ประเด็นร้อน

ป.ป.ช.จัดติวเข้ม สตรอง..ต้านโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 24,2018

- - สำนักข่าวไทยรัฐ - -

 

แม้ระยะหลัง ป.ป.ช. หรือ สำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติถูกสายตาสังคมจับจ้องหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรฐานการกล้าลงดาบเชือดผู้มากวาสนาบารมีบางคน

 

แต่วันก่อน ป.ป.ช.ก็ร่วมกันระดมสมองครั้งใหญ่ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อร่าง "ธรรมนูญต้านทุจริต" ขึ้นมาฉบับหนึ่งโดยหวังจะให้ธรรมนูญฉบับนี้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใช้งานยาวไปจนถึงปี 2564

 

สมชัย ถิระวันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันการทุจริต ภาคประชาสังคมและการพัฒนาเครือข่าย ของ ป.ป.ช.ให้ข้อมูลมาปึกใหญ่พร้อมกับแย้มว่า การจัดทำธรรมนูญฉบับนี้ก็เพื่อต้องการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตและพัฒนาระบบป้องกันการทุจริตในเชิงรุก

 

อย่างไรก็ตาม การจะฝ่าพายุคอร์รัปชันในเมืองไทย ไปให้ถึงเป้าหมายที่ว่าไว้ก่อนอื่นต้องมีการปรับฐานวิธีคิดรวมทั้งสร้างจิตสำนึกความละอายที่จะทุจริตหรือไม่ทนต่อการทุจริต ให้เกิดขึ้นได้เสียก่อน

 

ในการระดมสมองครั้งนี้จึงมีการนำเนื้อหาน่าสนใจจากบทความเรื่องหลักการพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม ของ พล.อ.ดร.ศรุต นาควัชระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ มาเผยแพร่

 

บทความดังกล่าว เริ่มปูพื้นด้วยการให้นิยามความหมายของคำว่า "ความดี" ซึ่งหมายถึงการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวม(สิ่งที่ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่เรียกว่าเป็นความดี)

 

พล.อ.ดร.ศรุตยกตัวอย่างสถานการณ์ประกอบให้เห็นภาพกรณีการใช้น้ำสาดไล่สุนัขที่กัดกัน

 

โดยเย็นวันหนึ่งศรรามกับงามตาไปนั่งรับประทานอาหารในขณะที่กำลังทานอาหารอยู่มีสุนัข2ตัวมากัดกันแถวข้างโต๊ะที่ทั้งคู่นั่งทั้งศรรามและงามตาจึงช่วยกันใช้น้ำสาดเพื่อให้สุนัขแยกจากกันแต่เหตุผลในการกระทำต่างกัน

 

กล่าวคือศรรามทำไปเพราะ...รำคาญเสียงสุนัขส่วนงามตาทำไปเพราะ...เกรงว่าสุนัขทั้ง2ตัวจะกัดกันจนบาดเจ็บพล.อ.ดร.ศรุตชี้ว่าการกระทำของศรรามไม่สามารถเรียกได้ว่าทำความดีเพราะเขาทำเพื่อตนเองส่วนการกระทำของงามตาถือว่าทำความดีเพราะเธอทำเพื่อสุนัข

 

เทียบกับคำว่า"ความชั่ว"หมายถึงการทำให้ผู้อื่นหรือส่วนรวมเดือดร้อน

 

พล.อ.ดร.ศรุตบอกว่าในโลกของความเป็นจริงการกระทำแต่ละครั้งของคนเรามีอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับแรก ความดี ระดับที่สอง ปกติ(ไม่ดีไม่ชั่ว)เช่น ทำเพื่อตัวเองแต่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นหรือส่วนรวมเดือดร้อนและระดับที่สาม คือ ความชั่ว ทำให้ผู้อื่นหรือส่วนรวมเดือดร้อน

 

ยกตัวอย่าง โอ ตั้งใจเรียน...เพื่อให้พ่อแม่ชื่นใจ เป็นการทำเพื่อผู้อื่น จึงเรียกได้ว่า เป็นความดี บี ตั้งใจเรียน...เพื่อให้ตัวเองมีอนาคต(ทำเพื่อตัวเอง แต่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน)ยังไม่ถือเป็นความดี เป็นแค่การกระทำในระดับ "ปกติ" หรือ "ละเว้นความชั่ว"

 

ส่วน เอ ไม่ตั้งใจเรียน...ทำให้พ่อแม่เสียใจ ถือว่า ทำชั่วชัดเจนเพราะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

 

พล.อ.ดร.ศรุตอธิบายเพิ่มว่า หลักการของคุณธรรมในโลกนี้มีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ พึงละเว้นความชั่ว และพึงทำความดี

 

เขาบอกว่า การที่สังคมจะเกิดความสันติสุขได้ ผู้คนในสังคมนั้นต้องมีคุณธรรม และต้องคำนึงถึงเสมอว่า ให้เลือกผลประโยชน์ของส่วนรวม...ในระดับที่ใหญ่กว่าเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

โดยเฉพาะการละเว้นความชั่วนั้น พล.อ.ดร.ศรุตบอกว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังที่หลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านเคยกล่าวไว้ใจความว่า

 

"การทำบุญนั้น โจรก็ทำได้ มันจึงเป็นแค่ปลายเหตุแต่การไม่ทำบาปทั้งปวงต่างหาก คือต้นเหตุ"

 

หลายคนเห็นว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยเหมือนพ่ายแพ้ต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง แม้จะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากมายทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นต้น

 

แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้เท่าที่ควร...

 

โดยเฉพาะกรณีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่สุดของการเกิดคอร์รัปชันในภาครัฐเพราะมีมูลค่าเงินสินบนใต้โต๊ะสูงกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ที่เอกชนต้องจ่ายแลกกับการได้เป็นคู่สัญญากับรัฐ

 

ดังนั้น การจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งหลาย จึงควรเริ่มจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนจากภาครัฐก่อนโดยเริ่มต้นด้วย การปรับระบบฐานคิด ในการปฏิบัติงาน แบบที่เรียกว่า ระบบฐานสิบ(Analog)กับ ฐานสอง(Digital)

 

แบบฐานสิบ คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีวิธีคิดที่แยกเรื่องตำแหน่งหน้าที่กับเรื่องส่วนตัว ไม่ออกยังมีการนำเอาผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมมาปะปน เช่น นำบุคลากร หรือ ทรัพย์สินของทางราชการ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเบียดบังเวลาราชการ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เครือญาติ หรือพวกพ้อง

 

ส่วนการปฏิบัติงานแบบฐานสอง คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีระบบการคิดที่สามารถแยกเรื่องตำแหน่งหน้าที่กับเรื่องส่วนตัวออกจากกันได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ไม่นำเอาผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมมาปะปนกันหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือของหน่วยงานเหนือกว่าประโยชน์ ส่วนตน เครือญาติ และพวกพ้อง

 

ตัวอย่างง่ายๆของการคิดแบบดิจิทัล หรือฐานสอง เช่น ไม่รับของขวัญจากผู้มาติดต่อราชการ ไม่ใช้รถหลวงในเรื่องส่วนตัว ไม่ใช้โทรศัพท์หลวงโทร.คุยธุระส่วนตัว ไม่นำวัสดุครุภัณฑ์ของหลวงไปใช้ที่บ้าน

 

ประชาชนเองก็เช่นกัน จิตสำนึกพื้นๆที่จะกันตัวเองออกห่างจากการทุจริตคอร์รัปชัน ยกตัวอย่าง เมื่อสกอตช์เทปที่บ้านหมดทำไงดีระหว่างเอาของออฟฟิศกลับมาใช้ที่บ้านหรือไปซื้อหาเอาใหม่

 

หรือเมื่อโดนตำรวจแจกใบสั่ง เพราะทำผิดกฎจราจร ทำไงดีระหว่างไปเสียค่าปรับตามกฎหมาย กับยัดเงินให้ตำรวจ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพัก

 

เช่นเดียวกับกรณีอยากให้ลูกตัวเองสอบติดโรงเรียนดัง แต่ลูกสอบไม่ติด ทำไงดี ระหว่างไม่เป็นไร หาที่เรียนใหม่ที่อื่นก็ได้กับยัดเงินสิ ยิ่งยัดเยอะๆ โอกาสจะได้เรียนยิ่งง่าย เป็นต้น

 

ไม่น่าเชื่อว่า จากจุดเริ่มเล็กๆเหล่านี้ สามารถนำพาเราไปสู่คำว่า "สตรอง...ต้านโกง" หรือ "โกงกันให้ไฟแลบ" ก็ได้...ขึ้นอยู่กับตัวเราเท่านั้น ที่เป็นคนเลือก

 

ตัวอย่างง่ายๆของการคิดแบบดิจิทัล หรือฐานสอง เช่น ไม่รับของขวัญจากผู้มาติดต่อราชการไม่ใช้รถหลวงในเรื่องส่วนตัว ไม่ใช้โทรศัพท์หลวงโทร.คุยธุระส่วนตัว ไม่นำวัสดุครุภัณฑ์ของหลวงไปใช้ที่บ้าน...

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw